เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 4718

2023-12-26 10:30

(กูรูเช็ค) โพรไบโอติกรักษาสิว Probiotic ในลำไส้กับสิว(Gut–Skin Axis) ต้องกินสายพันธุ์ไหนถึงจะได้ผล?

กูรูเช็ค

โพรไบโอติก(Probiotics) คืออะไร

    โพรไบโอติก(Probiotics) คือ จุลินทรีย์ที่จัดเป็นกลุ่มของจุลินทรีย์ชนิดดีที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดร้ายอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพค่ะ

จุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อผิว(Gut–Skin Axis)

สภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถส่งผลต่อสุขภาพผิวได้ยังไง?
        เคยมีการศึกษาได้เชื่อมโยงภาวะผิวหนังอักเสบกับความผิดปกติของจุลินทรีย์ในลำไส้ โดยที่จุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คนเรามีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อก่อโรค เมื่อเกิดภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล (จุลินทรีย์ชนิดร้าย > จุลินทรีย์ชนิดดี) จะทำให้เกิดภาวะภูมิเพี้ยน หรือ Autoimmune และการอักเสบเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่ในลำไส้เท่านั้นแต่ยังรวมถึงอวัยวะอื่นๆ รวมทั้งผิวหนังด้วย(อ้างอิง)
    จะเห็นว่าสภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถส่งผลต่อสุขภาพผิว ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของลำไส้และผิวหนังว่าสามารถส่งผ่านให้ผิวสุขภาพดีผ่านการทำงานของโพรไบโอติกในลำไส้ โดยการลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้น ยับยั้งการตอบสนองการอักเสบ และส่งผลไปยังระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย งานวิจัยต่างๆ พิสูจน์ความคิดที่ว่าความผิดปกติของโพรไบโอติกในลำไส้อาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังรวมถึงสิวได้ด้วย(อ้างอิง

สิวจากแบคทีเรีย

สิว คือ การอุดตันของระบบต่อมไขมันในรูขุมขน หากมีตัวกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น แบคทีเรีย ก็อาจจะทําให้เกิดการอักเสบได้ แม้ว่าสาเหตุการเกิดสิวมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจุบันเป็นที่เชื่อกันมากขึ้นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ในผิวหนังและภูมิคุ้มกันของร่างกายมีบทบาทสำคัญในการเกิดสิว และโพรไบโอติกในลำไส้ก็ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ดังนั้นการปรับสมดุลของโพรไบโอติกในลำไส้ก็ส่งผลต่อการลดการเกิดสิวได้เช่นกัน(อ้างอิง

รายงานความเกี่ยวข้องระหว่างโพรไบโอติกกับสิว

    เคยมีรายงานการยับยั้งแบคทีเรีย Propionibacterium Acnes (P. Acnes) ที่เป็นสาเหตุการเกิดสิว โดยโพรไบโอติกในลำไส้ Streptococcus salivarius (S. salivarius) ที่จะผลิตสาร BLIS-like substance ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสารคล้ายแบคเทอริโอซิน มีฤททธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์ตัวร้ายชนิดอื่น(อ้างอิง) โดยระบบภูมิคุ้มกันจะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผิวหนังและลำไส้ ซึ่งปฏิกิริยาระหว่างโพรไบโอติกกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความสำคัญต่อการรักษาสภาวะสมดุลของผิวหนัง ดังนั้นการปรับสมดุลโพรไบโอติกในลำไส้จึงเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลในการรักษาโรคผิวหนังหลายอย่างหนึ่งในนั้นน่าจะรวมถึงสิวด้วย 

    คนที่เป็นสิวจะมีจุลินทรีย์บางชนิดที่ผิวหนังที่จะสามารถทำลาย skin barrier หรือชั้นปราการผิว ส่งผลให้เกราะป้องกันผิวอ่อนแอลง นอกจากนี้ยังพบว่าโพรไบโอติกในลำไส้ยังมีส่วนช่วยปกป้อง skin barrier และสร้าง antimicrobial peptides เช่น แบคทีเรียกรดแลคติค Streptococcus thermophilus ส่งเสริมการสร้างเซราไมด์(อ้างอิง) ที่ช่วยกักเก็บน้ำไว้ที่ผิวหนังได้ ช่วยฟื้นฟูผิวจากการเป็นสิว และเซราไมด์สฟิงโกลิพิดบางชนิด รวมถึงสฟิงโกไมอีลิน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes ที่ทำให้เกิดสิว ผ่านการสร้างเซราไมด์ โพรไบโอติกจึงถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มเกราะป้องกันของผิวหนัง ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผิวที่เป็นสิว เนื่องจากเซราไมด์ช่วยปลอบประโลมผิวที่ระคายเคือง 

    นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าในคนที่เป็นสิวจะพบการลดจำนวนลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ในกลุ่ม Lactobacillus, Bifidobacterium, Butyricicoccus, Coprobacillus, และ Allobaculum เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่เป็นสิว โดยผลการวิจัยนี้ก็จะเชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนที่เป็นสิวและไม่เป็นสิว จุลินทรีย์ในลำไส้กลุ่ม Lactobacillus และ Bifidobacterium ถือว่าเป็นโพรไบโอติกสายพันธุ์ทั่วไปที่สร้างสมดุลให้กับจุลินทรีย์ในลำไส้โดยการหมัก Fiber ที่ไม่ถูกดูดซึมในลำไส้ส่วนบน(อ้างอิง) นอกจากนี้ Lactobacillus และ Bifidobacterium ยังสนับสนุนการสร้างเซลล์ CD4+Foxp3+T ซึ่งเป็น regulatory T cells และ dendritic cells ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน(อ้างอิง) และ Butyricicoccus จะสร้าง butyrate ที่จะให้พลังงานแก่เซลล์และป้องกันอันตรายหากเซลล์เกิดการอักเสบ(อ้างอิง)

    ส่วนรายงานจากบริษัทผู้ผลิตได้ทำการศึกษาทางคลินิกจากผู้ร่วมโครงการ 114 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติก  Bifidobacterium breve BR03 DSM 16604, Lacticaseibacillus casei LC03 DSM 27537 และ Ligilactobacillus salivarius LS03 DSM 22776 ร่วมกับ lupeol ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืชและสารสกัด Echinacea ที่เป็นพืช (Prebiotics) ในผู้ที่มีสิวบนใบหน้าจะพบว่าค่า global acne grading system (GAGS) ลดลง สิวอุดตันลงลง อาการของสิวอักเสบลดลงหลังจาก 8 สัปดาห์ที่ได้ทาน Symbiotic Dietary Supplement (Probiotics+Prebiotics) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ทานหรือทานเพียงแค่โพรไบโอติกเพียงอย่างเดียว(อ้างอิง)

สรุป

• โพรไบโอติกในลำไส้ที่มีผลต่อการยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวได้ เช่น Streptococcus salivarius (S. salivarius)
• โพรไบโอติกในลำไส้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง skin barrier ให้แข็งแรง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียผ่านชั้นผิวลงมาได้ เช่น  Streptococcus thermophilus
• โพรไบโอติกที่ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและต้านการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของสิว เช่น กลุ่ม Lactobacillus และ Bifidobacterium
• นอกจากนี้ยังพบว่าการทานอาหารเสริมที่เป็นพรีไบโอติก(อาหารของโพรไบโอติก) ร่วมกับ
โพรไบโอติกกลุ่ม  Bifidobacterium, Lacticaseibacillus casei และ Ligilactobacillus salivarius จะช่วยลดการเกิดสิว ลดสิวอุดตันและลดอาการอักเสบของสิวลงได้ภายใน 8 สัปดาห์

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความ   ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

4718

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “