เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 11704

2023-06-27 14:00

(กูรูเช็ค) รีวิว! พรีไบโอติก & โพรไบโอติก ต่างกันยังไง?

กูรูเช็ค

เชื่อว่าสมัยนี้ คุณๆต้องเคยได้ยินคำว่า “โพรไบโอติก” และ “พรีไบโอติก” เพราะทั้งในอาหาร เครื่องดื่มที่โฆษณา และหลายๆช่องทาง รวมถึงพวกอาหารเสริม ที่ก็เอาตัวโพรไบโอติก ออกมาทำการตลาด มาขายให้เราเห็นกันมากขึ้น จนบางครั้งก็ทำให้พวกเราอาจจะสับสนไปว่า โพรไบโอติกละพรีไบโอติก คือตัวเดียวกัน มีประโยชน์เหมือนกัน ก็เลยทานเหมือนกันแต่ความจริงๆไม่ใช่นะคุณๆ เพราะถึงแม้ปกติโพรไบโอติกและพรีไบโอติก ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้ ให้ทำงานได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ แต่ความจริงคือสองตัวนี้แตกต่างกันนะ อย่างถ้าทานแบบไม่ระมัดระวัง อาจเกิดอาการข้างเคียงอย่าง ท้องอืด ปวดท้องได้ วันนี้กูรูเช็คเลยจะมาไขความกระจ่างให้ค่ะว่า ความแตกต่างของโพรไบโอติก และ พรีไบโอติก คืออะไร 

• โพรไบโอติก

โพรไบโอติก (PROBIOTIC) เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เป็นจุลินทรีย์อะไรก็ได้นะคะ ต้องคัดมาก่อนแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ชนิดดีกับร่างกาย ตัวอย่าง เช่น L. acidophilus, L. casei, L. plantarum, L. reuteri  Bifidobacterium bifidum , B. longum และ L. rhamnosus

คุณสมบัติที่ดีของโพรไบโอติก(PROBIOTIC) คือ
• ทนกรด น้ำย่อย และน้ำดี
• ยึดเกาะกับเยื่อเมือกและเยื่อบุผิวได้ดี เพื่อการยึดเกาะและตั้งรกรากแทนที่เชื้อโรคตัวร้าย 
• สามารถต้านจุลชีพหรือแบคทีเรียก่อโรค (PATHOGENIC BACTERIA)
ประโยชน์ของโพรไบโอติก(PROBIOTIC)
การมี โพรไบโอติก ที่เพียงพอในลำไส้ช่วยให้เกิดความสมดุล และลดโอกาสการเกิดโรคได้ สรุปง่ายๆคือ
• ปรับปรุงสุขภาพของลำไส้ 
• ปรับปรุงการทำงานระบบภูมิคุ้มกัน 
• ลดคอเลสเตอรอลในเลือด 
• ป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง 

โพรไบโอติก กับ ผู้หญิง ดียังไง?
นอกจากนี้ คิดว่าหลายคนคงคาดไม่ถึงว่า โพรไบโอติกยังช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในช่องคลอดได้ ซึ่งโพรไบโอติกจะมีผลในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอด รวมถึงโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะได้ด้วยนะคุณๆ
 
ซึ่งจริงๆแล้วสมัยนี้ ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ทำออกมาเพื่อช่วยตอบสนองเรื่องความต้องการทานโพรไบโอติกเยอะมาก โพรไบโอติกยังมีการศึกษาที่ว่า การได้รับโพรไบโอติกเป็นประจำมีส่วนช่วยคงระดับอารมณ์ได้ เพราะแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้มีส่วนช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น ถ้าได้รับในปริมาณที่เพียงพอ ทางแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เด่นเรื่องการคิดค้นและผลิต ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อการป้องกันโรคอย่าง INTERPHARMA ก็ทำออกมาตอบโจทย์เรื่องนี้แล้ว หรือนอกจากนั้น เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ในปัจจุบันที่เรื่องเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โพรไบโอติกก็ยังมีส่วนช่วยตรงนี้ในเรื่องของ ช่วยลดโอกาสเสี่ยงเรื่อง ภาวะลองโควิด(LONG COVID) ได้นะคุณๆ 

ตัวอย่างอาหารที่มีโพรไบโอติก 
• โยเกิร์ต 
• นมเปรี้ยว 
• ชาหมัก
• มิโสะ
• กิมจิ
• นัตโตะ (ถั่วเน่า)
• ของหมักดอง อย่าง ผลไม้ดอง ปูดอง ปูปลาร้า ไส้กรอก แฮม กุนเชียง แหนม เบคอน ผักดอง

ข้อควรระวังในการทานโพรไบโอติก
โพรไบโอติกไม่ได้เหมาะกับทุกคน ถ้าคุณๆเป็นคนที่เม็ดเลือดขาวต่ำ ภูมิคุ้มกันต่ำ ได้รับยากดภูมิหรือได้รับเคมีบำบัดอยู่ ก็ควรจะงดเว้นอาหารที่มีโพรไบโอติก เพราะอาจจะมีโอกาสเสี่ยงก่อให้เกิดการติดเชื้อได้นะ

• พรีไบโอติก

พรีไบโอติก(PREBIOTIC) เป็นสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ แต่จุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้อย่างโพรไบโอติกนั้น สามารถหมักและย่อยสลายได้ ตัวอย่างเช่น เซลลูโลส(CELLULOSE), เฮมิเซลลูโลส(HEMICELLULOSE), อินูลิน(INULIN), เพคติน(PECTIN), ฟรุคโตโอลิโกแซ็คคาไรค์(FRUCTOOLIGOSACCHARIDE)

ประโยชน์ของพรีไบโอติก(PREBIOTIC)
• ปรับสมดุลภายในลำไส้
• ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
• กระตุ้นการเจริญเติบโตและเป็นอาหารให้กับโพรไบโอติก
• ช่วยลดน้ำหนัก
• ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้ พรีไบโอติกอาจมีประสิทธิภาพในด้านการต้านโรคบางชนิด เช่น โรคอ้วน ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งลำไส้ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น รวมทั้งอาจช่วยป้องกันภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ
ตัวอย่างอาหารที่มีพรีไบโอติก(PREBIOTIC) 
• ผัก : แก่นตะวัน หอมแดง กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม
• ข้าว แป้ง และธัญพืช : ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ขนมปังโฮลวีต
• ถั่วเมล็ดแห้ง : ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วชิคพี
• ถั่วเปลือกแข็ง : เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พิตาชิโอ
• ผลไม้ : กล้วย แอปเปิ้ล

ตัวอย่างพรีไบโอติกในอุตสาหกรรม
• ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (FOS) 
• อินนูลิน (Inulin)
ที่บอกว่าเป็นพรีไบโอติกในอุตสาหกรรม เพราะจะเจอ 2 ตัวนี้ได้บ่อยในกลุ่มอาหารเสริม มาช่วยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยการขับถ่ายเป็นหลักนั่นเองนะ

ข้อควรระวังของพรีไบโอติก
พรีไบโอติก เป็นอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ หากรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมากก็อาจจะทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง แน่นท้อง และท้องอืดได้

• โพรไบโอติก และ พรีไบโอติก ต่างกันยังไง

โพรไบโอติก(PROBIOTIC) คือ จุลินทรีย์ชนิดดี ที่ช่วยปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ 
พรีไบโอติก(PREBIOTIC) คือ อาหารของจุลินทรีย์ชนิดดี อย่างโพรไบโอติกนั่นเองค่ะ 
ซึ่งพรีไบโอติก อย่างที่บอกไปตอนต้นนะคุณๆว่า ถ้ากินเข้าไปเป็นจำนวนมากก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง และท้องอืดได้ เพราะงั้น ก่อนจะเชื่อคำการตลาด ต้องระวัง ศึกษา หรือปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนกันนะคะ

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ และฝากติดตามข้อมูลสุขภาพ ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

11704

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “