เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 11846

2023-05-16 14:00

(กูรูเช็ค) สิวที่มองไม่เห็น Microcomedones จุดกำเนิดปัญหาสิว ที่ป้องกันได้ ก่อนเป็นสิวเรื้อรัง!

กูรูเช็ค

คุณๆชาวกูรูเช็คที่น่ารักเคยสงสัยมั้ยว่า สิวมันมาจากไหน มาได้ยังไง มาทำไม แล้วอะไรเป็นจุดเริ่มต้นของสิว วันนี้กูรูเช็คจะพาคุณๆมารู้จักกับระยะแรกสุดของสิวทุกชนิด คุณๆจะได้รู้จักกับสาเหตุ และรู้วิธีป้องกันสิวกันตั้งแต่ก่อนที่สิวจะขึ้นมาบนหน้าเราให้เห็นนะ

• สิว Microcomedones คืออะไร?

Microcomedones คือ ระยะแรกของวงจรสิวทั้งหมด หรือ Early acne มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นการอุดตันที่อยู่ใต้ผิวเรา ตามชื่อของเค้า “ไมโคร” เลยนะ

แถมฮอร์โมนเพศ จะกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ และทำงานมากขึ้น รวมกับการแบ่งตัวและผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติ คือ เซลล์ผิวที่ตายแล้ว เกิดการสะสมอยู่ในรูขุมขนแทนที่จะหลุดลอกออกไปจากผิว แล้วยิ่งเจอกับน้ำมันบนผิวที่มีมาก ก็ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วเกาะกันแน่นขึ้น จนเกิดการอุดตันเป็น สิวMicrocomedones นั่นเอง ในระยะนี้ผิวของเราจะดูเหมือนผิวปกติทุกอย่าง 
แถมสิว Microcomedones สามารถอยู่ใต้ผิวของเราได้นานถึง 8 สัปดาห์เลยนะคุณๆ ถ้าเราไม่ทำอะไร ไม่ลดการอุดตันที่สะสมอยู่ใต้ผิวเรา จนกลายเป็นปัญหาสิวที่เรามองเห็นได้

• ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดสิว Microcomedones

1. ผิวผลิตน้ำมันมากเกินไป

ต่อมไขมัน มีหน้าที่ผลิตน้ำมันเพื่อให้ความชุ่มชื้น และความแข็งแรงกับผิว โดยน้ำมันที่ผลิตจะถูกส่งมาตามรูขุมขนออกมาเคลือบที่ผิวของเรา คนที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่ก็จะผลิตน้ำมันได้เยอะ ผิวหน้าจะมีความมันเงา และมีโอกาสเกิดการอักเสบของต่อมไขมันได้ง่าย หรือก็คือ คนที่ผิวมันส่วนใหญ่จะมีปัญหาสิวนั้นเอง

2. การผลัดเซลล์ผิวมากผิดปกติ

ปกติผิวหนังชั้นบนจะสร้างเซลล์ผิวใหม่ หรือแบ่งเซลล์ผิว แล้วค่อย ๆ หลุดลอกออกไป ใช้เวลาประมาณ 28 วัน แต่ถ้าเซลล์ผิวมีการแบ่งตัวมากผิดปกติ จะส่งผลต่อกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วไปอุดตันอยู่ในรูขุมขนได้ง่ายขึ้น ก็เกิดสิว Microcomedones ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทุกปัญหาสิว ทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบได้นั่นเอง 

3. ผิวระคายเคืองจากปัจจัยต่างๆ 

เช่น การขัดถูหน้าแรงเกินไป การบีบสิว การลอกผิว สครับผิวแรงหรือบ่อยเกิดไป

• วิธีป้องกันการเกิดสิว Microcomedones ด้วยสกินแคร์

เนื่องจากสาเหตุของสิว Microcomedones ชนิดนี้เกิดขึ้นจากความมันบนชั้นผิว และกระบวนการผลัดเซลล์ผิวแบบไม่สมบูรณ์ ซึ่งวิธีป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดสิว ก็สามารถทำได้ง่ายๆ อย่างการใช้สกินแคร์ที่มีสาร ACTIVE อย่าง 

• BHA
หรืออีกชื่อก็คือ Salicylic acid ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิว เพราะจะทำให้ Keratin หรือโปรตีนที่อยู่บนชั้นผิวที่แข็งนุ่มลง ทำให้เซลล์ผิวที่อยู่ด้านบนหลุดลอกออกได้ง่ายและลดการสะสมของน้ำมันบนผิว ป้องกันการอุดตัน และช่วยสลายสิวอุดตันทั้งชนิดสิวหัวเปิด และสิวปลายปิด สิวเสี้ยนชนิดหัวดำและหัวขาว รวมทั้งลดการอักเสบของสิวอักเสบ 
BHA ในผลิตภัณฑ์ต่างๆมีหลายความแรงตั้งแต่ 0.5-5% คนที่ผิวหน้าบอบบางแนะนำว่าควรเริ่มที่ความเข้มข้นต่ำกว่า 2% เพื่อไม่ให้หน้าแห้งเกินไป
ผลข้างเคียง 
หลังทาอาจเกิดอาการคันยิบๆบริเวณที่ทา พราะฉะนั้นให้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นสิวเท่านั้น (ถ้ามีอาการข้างต้น ควรล้างออก หรือเลือก % ความเข้มข้นให้ลดลงนะ) 
ข้อควรระวัง 
ไม่ควรใช้ BHA ร่วมกับยาทาสิวพวก Benzyl Peroxide, Retinoid, โฟมที่มีสคลับ และการขัดผิวนะ

• LHA(Lipohydroxy Acid) 
เป็นอนุพันธ์ของ Salicylic Acid มีคุณสมบัติละลายในน้ำมัน ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ฟื้นฟูสภาพผิว และใช้ในการรักษาสิว 
ข้อแตกต่างจาก BHA 
BHA ออกฤทธิ์ได้แรงและเร็วกว่า ในขณะที่ LHA ที่มีโมเลกุลใหญ่กว่า การดูดซึม และออกฤทธิ์จะช้ากว่า BHA ทำให้ผลัดเซลล์ผิวได้อ่อนโยนเป็นธรรมชาติมากกว่า และออกฤทธิ์ได้นานกว่า Salicylic Acid(BHA) 
และค่า pH ใน LHA มีค่าที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติของผิว คือ ระดับ 5.5  ในขณะที่ค่า pH ของ Salicylic Acid (BHA) อยู่ที่ 2-3 ทำให้ BHA มีค่าเป็นกรดมากกว่า ระคายเคืองผิวได้ง่ายกว่า ทำให้ LHA มีจุดเด่นในเรื่องของความอ่อนโยน ผิวที่บอบบางก็มีโอกาสระคายเคืองผิวได้น้อย และมีข้อดีสำหรับคนที่มีผิวมันรูขุมขนกว้าง เพราะ LHA สามารถปรับสมดุลความมันบนใบหน้า และช่วยสลายการอุดตันในรูขุมขนได้ด้วยนะคุณๆ

• Retinoic acid(กรดวิตามินเอ) 
มีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องสิว นอกจากจะช่วยลดสิวที่เกิดขึ้นปกติบนผิวหน้าเราแล้ว ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการพัฒนาของสิว Microcomedones โดยจะไปช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวที่มากเกินไป และยับยั้งการอักเสบที่ผิวอีกด้วย 
ถ้าคุณๆคนไหนกำลังจะเลือกสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอ ในช่วงแรกของการรักษา อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวแดง หรือสิวเห่อขึ้น เนื่องจากผิวมีการปรับตัว และเกิดการดันสิ่งที่อยู่ใต้รูขุมขนขึ้นมาบนผิว  แถมข้อมูลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าอาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้น หลังใช้ต่อไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ 
ข้อควรระวัง 
อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น แสบบริเวณที่ทา และเกิดผิวลอกได้ ควรทากันแดดอย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ใช้ยากลุ่มกรดวิตามินเอ 
ข้อห้ามใช้ 
ห้ามใช้ในคุณๆที่ตั้งครรภ์เนื่องจากยามีผลต่อทารก ทำให้พิการได้ และหากคุณๆ ที่วางแผนจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพื่อจะได้หยุดยาในระยะเวลาที่เหมาะสม

การดูแลผิวให้ไกลจากสิว Microcomedones

• เลือกใช้ครีมบำรุง หรือเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดการอุดตันบนผิว 
• หลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะแสงแดดจะทำให้ผิวเราแห้งและหนาขึ้น ร่างกายจะตอบสนองด้วยการสร้างน้ำมันมาชดเชย และทำให้ผิวอุดตันมากขึ้น หรือสิวแย่ลงไปอีกได้นะ  
• สครับผิวอาทิตย์ละครั้ง ไม่ต้องสครับผิวบ่อย และเลือกใช้เนื้อสครับที่มีความละเอียด ไม่บาดผิวจนเกินไป

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ และฝากติดตามข้อมูลสุขภาพ ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

11846

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “